อำนาจ จากการครอบครองนกเงือก

 

 

ข่าวที่สร้างสีสันให้กับผู้อ่านไม่นานมานี้ข่าวหนึ่ง คงหนีไม่พ้น การที่มีคนในโลกออนไลน์ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามกับ คุณวิกรม กรมดิษฐ์ นักธุรกิจชื่อดังคนหนึ่งผู้โพสต์ภาพตัวเอง กับนกเงือกสีน้ำตาล สัตว์คุ้มครองของไทยว่าเป็นการทำผิดกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า

แต่กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้มีอำนาจหน้าที่รักษากฎหมาย กลับนิ่งเฉยมานาน จนเมื่อปรากฏเป็นข่าว สื่อให้ความสำคัญ ผู้คนเริ่มวิจารณ์การทำหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็เริ่มออกทำงาน

พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ระบุว่า “ห้ามครอบครองสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองเว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “

แต่นกเงือกสีน้ำตาล ดูจากข้อเท็จจริงแล้ว คงไม่มีใบอนุญาตให้ครอบครอง จึงถือว่ามีความผิดสมบูรณ์ ขึ้นอยู่ที่ว่าเจ้าหน้าที่จะจริงจังเพียงใด

อันที่จริงกรณีของคุณวิกรม น่าจะเป็นเพียงภูเขาก้อนน้ำแข็ง เพราะเชื่อว่ายังมีคนจำนวนมากมีสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดอื่นไว้ในครอบครอง เพื่อเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน เพียงแต่ไม่ตกเป็นข่าว
และทุกครั้งคนเหล่านี้หากถูกจับได้ ก็มักอ้างว่า เป็นคนรักสัตว์ เลี้ยงด้วยความสงสารสัตว์

เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรดาผู้มีอันจะกิน มักจะพยายามสรรหาสัตว์ป่าหายาก สัตว์ป่าคุ้มครองมาเลี้ยงประดับบารมี

เคยเห็นในหนังสารคดี เศรษฐีอาหรับเลี้ยงเหยียวตัวละหลายแสนเกาะไว้ที่ไหล่หรือแขนไหม ? เหยี่ยวยิ่งพันธุ์หายาก ยิ่งราคาแพงลิบลิ่ว บรรดาเศรษฐีจะแข่งกันประมูลซื้อมากัน โดยเบื้องหลังของการได้ลูกเหยี่ยวมาฝึกให้เชื่องนั้น บรรดานายพรานก็ต้องไปแอบขโมยมาจากรังของแม่เหยี่ยวตามชะง่อนผา

ภาพข่าวนักธุรกิจชื่อดังนั่งอยู่บนเก้าอี้และมีนกเงือกสีน้ำตาลเกาะอยู่ข้าง ๆ ผมนึกถึงเศรษฐีอาหรับกำลังให้เหยี่ยวเกาะแขน อารมณ์ทั้งคู่ไม่ต่างกันเลย คือเลี้ยงสัตว์หายากไว้ประดับบารมี แม้จะรักสัตว์ด้วยก็ตาม

สำหรับโลกของคนกลุ่มหนึ่ง การได้ครอบครองสัตว์ป่าหายากที่มีราคาแพง เป็นอำนาจอย่างหนึ่งที่คนธรรมดาทำไม่ได้แน่นอน คืออำนาจที่เหนือกว่าคนทั่วไป อำนาจที่กฎหมายทำอะไรไม่ได้ อำนาจแบบนี้ เป็นนิยามของคำว่า บารมี ก็เป็นได้

แต่อีกด้านหนึ่ง ค่านิยมของคนรวยที่ชอบเลี้ยงสัตว์หายาก คือสาเหตุสำคัญของการลักลอบค้าสัตว์ป่าคุ้มครองในปัจจุบัน

ถามว่าสัตว์ป่าบางชนิดทำไมต้องคุ้มครอง ? คำตอบง่าย ๆ คือ สัตว์ป่าคุ้มครองมีปริมาณในธรรมชาติน้อยมาก หากไม่คุ้มครองก็คงสูญพันธุ์ไปตาม สมัน กูปรี นกเจ้าฟ้าสิรินธร ฯลฯ

ถามว่านกเงือกสีน้ำตาลมาจากไหน ? หากเข้าใจชีวิตของนกเงือก ก็จะทราบดีว่า มันต้องใช้โพรงจากต้นไม้ขนาดใหญ่ทำรังตามธรรมชาติไม่สามารถเพาะในกรงเลี้ยงได้ ดังนั้นหากมนุษย์จะเลี้ยงนกเงือกสีน้ำตาล ก็มีวิธีการเดียวคือไปขโมยลูกนก พรากพ่อพรากแม่จากรังในธรรมชาติ ซึ่งการขโมยลูกนกเงือกในรังเกิดขึ้นมากมายในป่าหลายแห่ง

ทุกวันนี้มีเว็บหรือเฟสบุ๊กที่ขายสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิดอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งเกือบทั้งหมดก็คือไปเอาลูกสัตว์ พรากมาจากพ่อแม่ในป่า

รสนิยมการเลี้ยงสัตว์ป่าหายาก นอกจากทำให้ขบวนการค้าสัตว์ป่าเฟื่องฟู เพราะมีออเดอร์รออยู่แล้วยังเป็นการทำลายชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าด้วย

หากบรรดาผู้มีอันจะกิน มีค่านิยมในการเลี้ยงสัตว์ป่าหายากเพิ่มขึ้น สัตว์ป่าในธรรมชาติก็จะถูกล่ามากักขังกันมากขึ้น เอาสัตว์ป่าคุ้มครองออกมาจากป่า จากบ้านของพวกเค้า สักวันหนึ่งคงหมดป่าแน่

และอย่าลืม ตอบตัวเองว่า หากเราถูกพรากจากอกพ่ออกแม่ มาถูกจับขังแบบนี้ มันโอเคไหม

สัตว์ป่าล้วนมีชีวิตจิตใจ เคยเห็นแววตาของสัตว์ที่ถูกจำกัดพื้นที่ สูญเสียอิสรภาพไหม

หากไม่เคยสังเกต ลองแวะไปดูสิ แล้วจะเข้าใจว่า ทำไมเราไม่ควรเลี้ยงสัตว์ป่า

กรุงเทพธุรกิจ
๒๓ มิย. ๕๙

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.