Thailand 4.0 กับ ระบบราชการ 0.4

ไม่นานมานี้ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) เปิดเผยความคืบหน้าในการจัดตั้ง ดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ ว่าทางกระทรวงดีอี ได้จัดทำหลักการการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ หรือ เขตนิคมอุตสาหกรรมเพี่อสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิทัล เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างสรรค์งานด้านดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ โดยจะมีขึ้นในพื้นที่ 500 ไร่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งปัจจุบันเป็นของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน)

โดยล่าสุดทางกระทรวงดีอี ได้เริ่มมีการหารือและเชิญบริษัทชั้นนำของโลกให้มาตั้งสำนักงานในดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาทิ เฟสบุ๊ก กูเกิ้ล และอเมซอน เป็นต้น โดยในส่วนของสิทธิประโยชน์บริษัทที่จะเสนอให้แก่บริษัทที่จะมาตั้งสำนักงานในดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ คือ ยกเว้นภาษี 8 ปี และลดหย่อน 50% ในอีก 5 ปีถัดมาเท่ากับสิทธิประโยชน์สูงสุดของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)

อีกด้านหนึ่ง กระทรวงฯ จะจัดงานใหญ่ ดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการเชิญสตาร์ทอัพจากต่างประเทศทั่วโลกมาร่วมงานกว่า 20 ประเทศ เพื่อได้เข้ามาแลกเปลี่ยน

ไม่รู้ว่าจะเชิญสตาร์ทอัพ ยี่ห้อ Uber มาด้วยหรือไม่

ทุกวันนี้รถ Uber ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่นแต่ระบบขนส่งสาธารณะไม่เพียงพอต่อความต้องการ อาทิเชียงใหม่ ภูเก็ต

แต่ที่เป็นปัญหาไปกว่านั้น คือพฤติกรรมของรถรับจ้างสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถแท๊กซี่ หรือรถสี่ล้อแดงของเชียงใหม่ รถแท๊กซี่ในกรุงเทพมหานคร เป็นที่รับรู้กันว่า เรียกแล้วไม่ค่อยจะไป โดยเฉพาะบริเวณที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่นเพราะรับผู้โดยสารต่างชาติ จะเรียกค่าโดยสารแพงกว่า

วันก่อน อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหารถแท็กซี่ ด้วยการลองโบกรถแท็กซี่ด้วยตัวเองย่านสยามและประตูน้ำโดยได้เรียกรถแท็กซี่ 23 คัน ได้รับการปฏิเสธถึง 21 คัน

ขณะที่รถสี่ล้อแดง สัญญลักษณ์ของนครพิงค์ ได้รับเสียงบ่นมาตลอดหลายสิบปี คนขับนึกอยากจะเปลี่ยนผู้โดยสาร ก็ไล่ผู้โดยสารลงกลางทาง ราคาค่าโดยสารแพงมหาโหด หากผู้โดยสารไม่อู้คำเมือง ราคาจะแพงขึ้นทันที หากนั่งคนเดียวจะต้องเหมารถ แต่สุดท้ายคนขับก็แวะรับคนกลางทาง มีการร้องเรียนไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แต่เสียงบ่นก็ล่องลอยไปตามสายลม

เมื่อสตาร์ทอัพอย่าง Uber เข้ามาเมืองไทย จึงมีคนนิยมใช้อย่างแพร่หลาย จากความสะดวก มารับถึงที่ ราคาไม่แพง มีการประเมินคนขับรถ ฯลฯ ตอบโจทย์การเดินทางในปัจจุบัน ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

ผลก็คือไปแย่งลูกค้าของแท๊กซี่ และรถสี่ล้อแดง มีการร้องเรียนไปยังกรมการขนส่งทางบก เจ้าหน้าที่ก็ตอบสนองอย่างเร็ว ด้วยการจับกุมคนขับรถ Uber มาเปรียบเทียบปรับหลายราย
และยังลามปามไปถึงรถยนต์ส่วนบุคคลที่มาส่งเพื่อนในสนามบิน เมื่อมีการแอบถ่ายรูปและส่งไปให้ทางขนส่งจังหวัดเชียงใหม่จัดการว่าเป็นรถ Uber เมื่อหนุ่มสุพรรณบุรีรายหนึ่ง ขับรถส่วนตัวไปส่งเพื่อนฝรั่งที่ขนส่งในเชียงใหม่ โดนทางขนส่งจังหวัดทำจดหมายเรียกให้ไปชี้แจงข้อกล่าวหาที่มีผู้ร้องเรียนว่าขับรถ Uber ไปส่งฝรั่ง

ขนส่งฯบอกว่า กลุ่มรถรับจ้างท้องถิ่นเป็นผู้ถ่ายภาพมาฟ้องว่ามีพฤติกรรมคล้ายอูเบอร์ และย้ำว่าต้องรายงานตัว หรือทำหนังสือมาชี้แจงข้อกล่าวหาหรือให้โทรศัพท์มาพูดคุย

ระบบราชการใหญ่โตจริง ๆ หากคิดใหม่ ทำใหม่ แทนที่จะให้ทางผู้ถูกกล่าวหาโทรศัพท์มา ทั้งๆที่เขาไม่ได้ทำอะไรเลยก็โทรศัพท์ไปหาก็จบเรื่อง

คือราชการ 0.4 ระบบอำมาตย์ครองเมือง จะเรียกประชาชนมาชี้แจงฝ่ายเดียว

ล่าสุด รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เสนอว่าจะให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 ปิดแอพพลิเคชั่น Uber เพราะทำลายระบบขนส่งสาธารณะของไทย

ขำไม่ออกกับ วิสัยทัศน์ของข้าราชการไทยกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

แล้วยังคิดจะเชิญบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกออนไลน์มาลงทุนเมืองไทย

กรุงเทพธุรกิจ 16 มีค. 2517

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.