ต่อไปนี้น่าจะเป็นบทสนทนาที่คนจำนวนหนึ่งในสังคมได้เคยผ่านประสบการณ์มาบ้าง
“พี่เป็นเสื้อแดงหรือ”
“เปล่าครับ”
“พี่เป็นเสื้อเหลืองหรือ”
“เปล่าครับ”
“งั้นพี่ก็เป็นสลิ่มสิ”
“เปล่าอีกครับ”
“ พี่ไปเป่านกหวีดด้วยแน่นอน”
“เปล่าครับ ไม่เคยไปเป่านกหวีด แต่เคยไปสังเกตการณ์”
“แล้วพี่ใส่เสื้อขาวไปจุดเทียนหรือไม่”
“ขี้เกียจไปครับ”
“งั้นพี่ก็เป็นพวกไทยเฉยหรือ”
“ไม่เฉย สนใจการเมืองมาหลายสิบปีแล้วครับ”
“แล้วพี่เป็นอะไรกันแน่”
“พี่เป็นคนไทยคนหนึ่งครับ”
“แล้วพี่อยู่ข้างไหน”
“พี่อยู่ข้างที่ถูกต้อง”
“ฝ่ายไหนล่ะที่ถูกต้อง”
“ไม่มีฝ่ายไหนถูกหรือผิดหมด ทุกฝ่ายมีส่วนถูกและผิด”
“พี่แม่งเยอะ ชัด ๆบอกมาเลยว่าอยู่ฝ่ายทักษิณหรือฝ่ายสุเทพ สมัยนี้ต้องเลือกข้างกันแล้ว”
” พี่ไม่เลือกข้าง บอกแล้วว่าอยู่ฝ่ายที่ถูกต้อง ”
“ไม่เข้าใจโว้ย เรื่องมากฉิบ”
“ยังไม่ต้องรีบร้อนเข้าใจวันนี้หรอก ค่อย ๆ เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ไม่แน่วันหน้าอาจจะเข้าใจครับ”
บทสนทนาจบลง จากกันไปอย่างงงๆ และผมเชื่อว่า มีคนจำนวนหนึ่งมีความคิดแบบนี้ แต่ไม่รู้จะแสดงออกมาได้อย่างไรในสังคมที่มีความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรง และสถานการณ์วิกฤติจนทำให้คิดว่าทุกคนต้องเลือกข้างกันแล้ว
แต่ในความจริงมีผู้คนจำนวนมาก อาจจะเรียกว่าเป็นพลังเงียบ ไม่เคยแสดงตัวว่าสนใจหรือฝักใฝ่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชัดเจน หรือพวกเขาและเธออาจจะเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองทั้งสองเหตุการณ์ ตั้งแต่เมื่อครั้งกลุ่มเสื้อแดงมาชุมนุมกันที่ราชประสงค์เมื่อปี พ.ศ. 2553 เพื่อแสดงออกถึงการไม่พอใจรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ร่วมมือกับทหารอย่างเงียบ ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยมีคนจากต่างจังหวัดเป็นมวลชนสำคัญ ภายใต้การแสดงออกด้วยคำว่า “ไพร่” และอาจจะมาร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. เพื่อประท้วงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดยมีคนชนชั้นกลางเป็นมวลชนสำคัญ ภายใต้การแสดงออกด้วยคำว่า “กบฎ”
หรือกลุ่มพลังเงียบเหล่านี้อาจจะไม่เคยมาร่วมชุมนุมทางการเมือง แต่เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด
ทุกวันนี้คนเหล่านี้อาจจะโดนด่า เพราะไม่แสดงตัวชัดเจน หรือไม่เลือกข้าง แต่ดูเหมือนคนกลุ่มนี้อาจจะไม่ใส่ใจ เพราะเขาและเธอคิดว่าทั้งสองฝ่ายล้วนมีเหตุผล เห็นข้อดีและข้อเสียของทั้งสองข้างแตกต่างกันออกไป
พวกเขาเชื่อว่า ข้อดีของกลุ่มคนเสื้อแดงคือ เป็นการรวมกลุ่มของคนระดับรากหญ้า ที่ไม่เคยมีที่ยืน หรือตัวตนในสังคมมาอย่างชัดเจน เพื่อลุกขึ้นสู้กับนักการเมืองและทหารที่ทำอะไรไม่ชอบมาพากล คือลิดรอนสิทธินักการเมืองฝ่ายที่ตัวเองเลือกตั้งกันเข้ามา
ขณะที่ข้อดีของผู้ชุมนุมที่สนับสนุนกลุ่ม กปปส. คือ เป็นการรวมกลุ่มของชนชั้นกลาง ที่เคยถูกวิจารณ์ว่า เป็นพวก โลเล เสรี เย่อหยิ่ง และไม่สนใจการเมือง แต่กลับมีการรวมกลุ่มอย่างมีพลัง เพราะไม่พอใจการคอรัปชั่นอย่างรุนแรง และการใช้อำนาจออกกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมหลายประการ ด้วยการอ้างเสียงส่วนใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้
แต่ข้อเสียของทั้งสองกลุ่มที่ค่อนข้างชัด คือ ความไม่แน่ใจในผู้นำของทั้งสองกลุ่ม ว่าจะนำพามวลชนไปในทิศทางใด มีเบื้องหลังที่ต้องติดตามกันต่อไป และคนรอบกายของผู้นำทั้งสองกลุ่ม มีพวกฮาร์ดคอร์จำนวนมากที่มักสร้างความรุนแรง หรือความก้าวร้าวมาตลอด แม้ว่าทุกครั้งผู้นำทั้งสองฝ่ายจะพูดเสมอว่า ใช้วิธี “สงบ อหิงสา” จนกลายเป็นคำล้อเลียนว่า ใช้วิธี “สนั่น อหิงสวน”
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมของกลุ่มคนทั้งสองฝ่ายในช่วงเวลาสองสามปีนี้ ได้ทำให้ผู้คนในสังคมไทยตื่นตัวอย่างมากในทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ประชาชนจำนวนมหาศาลทั่วประเทศ โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด ที่เรียกตัวเองว่า ไพร่ และชนชั้นกลางที่เรียกตัวเองว่า กบฎเกิดการตื่นตัวทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เขารู้ดีว่า อำนาจทางการเมืองอยู่ที่พวกเขาเป็นผู้กำหนด
ซึ่งจะนำมาซึ่งการตรวจสอบรัฐบาลในอนาคตอย่างละเอียดถี่ยิบ
พวกเขารู้แล้วว่า อำนาจอยู่ที่ประชาชน ไม่ใช่นักเลือกตั้ง และอำนาจไม่ได้อยู่แค่สองสามวินาทีตอนหย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่อำนาจอยู่ที่การตรวจสอบและการสร้างแรงกดดัน
จากนี้ไปนักการเมืองจะระวังตัวมาก เพราะการใช้เครื่องมือสื่อสารอันทรงประสิทธิภาพอย่าง social media ทั้งคลิป เฟสบุ๊ก หรือทวิตเตอร์จะเป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญที่โหดกว่าการถูกเปิดโปงทางทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์เสียอีก
ทั้งไพร่ ทั้งกบฎ ทั้งพวกพลังเงียบ รวม ๆ แล้วก็น่าจะเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ บัดนี้เขาพร้อมแล้วที่จะตรวจสอบนักการเมืองทุกคนและแม้ฝ่ายที่จัดตั้งรัฐบาลจากเสียงส่วนใหญ่ ก็คงทำอะไรไม่ได้มากเหมือนสมัยก่อน
มั่นใจลึก ๆว่า จากนี้เป็นต้นไป นักการเมืองคงทำมาหากินกันลำบากขึ้นอีกเยอะครับ
กรุงเทพธุรกิจ 18 กพ. 57