นโยบายหาเสียง เมื่อสิ่งแวดล้อมเดินตามหลังเศรษฐกิจ

ประมาณสิบกว่าวันที่ผ่านมา นิด้าโพลได้ออกแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมือง ปรากฎว่า ร้อยละ 86 ของผู้ตอบบอกว่าไม่เคยได้ยินนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมืองเลย

หากจะถามว่านโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่กำลังชิงชัยกันอยู่ทุกวันนี้ มีเนื้อหาที่กล่าวถึงนโยบายสิ่งแวดล้อมหรือไม่

คำตอบก็คือในเอกสารของพรรคการเมืองส่วนใหญ่มีนโยบายด้านนี้ แต่ส่วนมากมักจะถูกซุกอยู่รวม ๆกับนโยบายอื่น ๆ หรือมีเขียนไว้ราวกับเป็นแบบไม้ประดับ ไร้ทิศทาง ไร้เสน่หา ไร้แนวทางชัดเจนชวนดึงดูด

ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ?

ต้องยอมรับว่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา ไม่มีพรรคการเมืองใดสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง กระทรวงด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นกระทรวงซี แต่ช่วงหลังอับเกรดมาเป็นกระทรวงเกรดบี ตามงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ตามความสำคัญของเรื่องสิ่งแวดล้อม

พรรคการเมืองเกือบทั้งหมดมีความเชื่อว่า นโยบายสิ่งแวดล้อม หาเสียงไม่ได้ นโยบายสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถสร้างผลงานเป็นรูปธรรมเพื่อใช้ในการหาเสียงได้ นโยบายที่หาเสียงได้คือนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาสิ่งแวดล้อม จึงเดินตามเศรษฐกิจมาตลอด

แน่นอนว่า พรรคใครชูนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าลดโลกร้อน คงจะไม่สามารถเอาใจประชาชน เมื่อต้องสู้กับอีกพรรคที่ชูนโยบายออกบัตรเครดิตให้ชาวนา สร้างเขื่อนหาน้ำให้เกษตรกร หรือออกโฉนดชุมชนให้เกษตรกร

พรรคใดขืนชูนโยบายเก็บภาษีน้ำมันมากขึ้น เพื่อลดการใช้พลังงาน คงไม่สามารถสู้อีกพรรคที่ออกนโยบายลดภาษีรถยนต์

ลองไปดูนโยบายของพรรคการเมือง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เราจะพบว่า มีคำพูดซ้ำๆกันเยอะมาก เป็นคำพูดกลางๆ ที่ดูสวยหรูไม่เป็นพิษเป็นภัย อาทิเช่น คำว่า ปลูกป่า คัดแยกขยะ เศรษฐกิจพอเพียง แก้ปัญหามลพิษ แก้ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง นโยบายใช้พลังงานสะอาด พลังานทางเลือก สิ่งเหล่านี้มีแต่คำพูด แต่ไม่มีรายละเอียด ไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน

หากเปรียบเทียบกับนโยบายด้านเศรษฐกิจแล้ว จะมีรูปธรรมตัวเลขชัดเจน ไม่ว่าจะเม็ดเงินที่ลงทุน ระยะเวลาของโครงการ จำนวนหรือกลุ่มประชาชนที่จะได้รับผลประโยชน์

พรรคประชาธิปัตย์ฟันธงว่า นโยบายโฉนดชุมชน จะทำให้ประชาชน 250,000 คนได้รับประโยชน์ พรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะถมทะเลจากปากอ่าวไทยออกไปสิบกิโลเมตร และสร้างเขื่อนป้องกันน้ำทะเลไม่ให้ท่วมกรุงเทพ และจะทำให้ได้พื้นที่เพิ่มมานับแสนไร่

เป็นการตอกย้ำว่า สิ่งแวดล้อมขายไม่ได้ ขณะที่ปากท้องประชาชนยังเป็นเรื่องหาเสียงได้ดีที่สุด การสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน มีจุดขายมากกว่าการหาเสียงเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมาจึงไม่มีพรรคการเมืองไหนกล้าชูนโยบายสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ไม่มีพรรคการเมืองไหน ต้องการที่จะมีข้อผูกมัด อย่างชัดเจน เกี่ยวกับการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

เป็นที่ทราบกันดีว่า การพัฒนาเศรษฐกิจต้องมีการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ที่ดิน น้ำ ป่า สินแร่ และก่อปัญหาด้านมลพิษ ทำลายสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด

นักการเมืองจึงต้องเดินหน้าชูการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อสร้างผลงาน ไม่ว่าจะสร้างรถไฟฟ้า สร้างถนน ผันน้ำสร้างเขื่อน สร้างนิคมอุตสาหกรรม

สิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่นักการเมืองมีความสนใจและใส่ใจน้อยมาก เวลามีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น พรรครัฐบาลมักจะตัดสินใจโดยดูผลกระทบทางการเมืองมากกว่าจะดูผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่างปัญหาการเปิดปิดประตูเขื่อนปากมูล มีการตั้งคณะกรรมการนับสิบชุดเพื่อศึกษาปัญหาการเปิดปิดประตูเขื่อนมานับสิบปีแล้ว โดยทุกครั้งก็มีข้อสรุปตรงกันว่า น่าจะเปิดประตูเขื่อนถาวร แต่สุดท้ายรัฐบาลปัจจุบันก็ไม่กล้าฟันธง ซื้อเวลาโดยการตั้งคณะกรรมการศึกษาต่อไป เพราะเกรงใจรัฐมนตรีที่เป็น สส. ในพื้นที่ว่าจะกระทบต่อฐานเสียงของตนเองที่อยากให้ปิดประตูเขื่อน

กรณีเรื่องปัญหามลพิษในนิคมอุตสากรรมมาบตาพุด รัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่มีใครสนใจแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จนกระทั่งเกิดกรณีชาวบ้านฟ้องศาลปกครองจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตและเป็นจุดเปลี่ยนของการพัฒนาอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

ในยุคที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเกือบลิตรละ 40 บาท ในยุคที่เกิดปัญหาการขาดแคลนแหล่งพลังงานไฟฟ้า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็มีปัญหา ถ่านหินก็เกิดมลพิษ แต่รัฐบาลก็ไม่เคยออกมาตรการประหยัดไฟฟ้า หรือสร้างแรงจูงใจให้คนสนใจการประหยัดน้ำมันอย่างจริงจัง ในขณะที่รัฐบาลประเทศตะวันตก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือจีน ออกกฎหมายประหยัดพลังงานไฟฟ้าอย่างจริงจังมีการตั้งเป้าหมายชัดเจนว่าจะต้องลดการใช้ไฟฟ้าลงกี่เปอร์เซนต์ต่อปี

ขณะที่เมืองไทยอย่างมากทุกปีก็มาโฆษณารณรงค์ให้ปิดไฟฟ้าหนึ่งชั่วโมงลดโลกร้อน เพื่อไม่ให้ขายขี้หน้าประเทศอื่น

และเมื่อหลายวันก่อน มีการเสวนาเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมือง จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม นักข่าวถามว่า จะมีพรรคใดมีนโยบายสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นหรือไม่ ทุกพรรคเห็นตรงกันว่า ไม่มีการสร้าง แต่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นการรับปากทางการเมืองมากกว่า เพื่อลดแรงกระเพื่อมต่อคะแนนเสียงในช่วงเลือกตั้ง แต่โครงการเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตจะไม่เกิดขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมคนหนึ่งได้เคยชี้ประเด็นสิ่งแวดล้อมสามสี่เรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ต่อสังคมไทยในเวลานี้

เรื่องแรกคือ การสร้างนิสัยใหม่ ๆ ให้คนไทยต้องปรับตัวต่อปัญหาภัยพิบัติ อันเกิดจากปัญหาโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ มีปัญหาเรื่องฝนแล้ง ปัญหาน้ำท่วมตลอดเวลา เพราะที่ผ่านมาคนไทยมีความเชื่อว่า บ้านเราไม่มีปัญหาด้านภัยพิบัติ แต่สถานการณ์ตอนนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เรามีโอกาสจะเจอสิ่งที่ไม่คาดหมายได้ตลอดเวลา จะทำอย่างไรให้คนในสังคมปรับตัว พร้อมรับกับสถานการณ์แบบนี้ได้

ไม่มีพรรคการเมืองใดพูดถึงเรื่องนี้เลย

ประเด็นต่อมา การแสวงหาพลังงานทางเลือก ทุกพรรคพูดถึง พลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม แต่ไม่มีตัวเลขชัดเจนว่าจะทำอย่างไรต่อการเพิ่มพลังงานไฟฟ้าโดยใช้พลังงานทางเลือก

ประเด็นต่อมา มลพิษทางอุตสาหกรรม จากการสำรวจของนิด้าโพล พบว่าเป็นเรื่องแรกที่ประชาชนต้องการให้มีการแก้ปัญหาเรื่องมลพิษมากที่สุด แต่ไม่มีพรรคใดมีมาตรการชัดเจนต่อเรื่องนี้เลย

แต่เหนือสิ่งอื่นใด หลังเลือกตั้งพอนับคะแนนเสียงเสร็จ หากไม่มีพรรคการเมืองใดมีคะแนนเสียงท่วมท้นพอจะตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ต้องจับมือกับพรรคอื่น เชื่อขนมได้เลยว่า พรรคที่เป็นแกนหลักมักจะจับจองกระทรวงเกรดเอด้านเศรษฐกิจ ส่วนกระทรวงด้านสิ่งแวดล้อมมักจะตกเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่ค่อยเต็มใจอยากได้นัก

ไม่ต้องแปลกใจ สำหรับนักการเมืองไทย สิ่งแวดล้อมเดินตามต้อย ๆ เศรษฐกิจมาโดยตลอด

มติชน 19 มิย. 54

Comments

  1. โอ๋

    หนูขอสิ่งแวดล้อมที่ดีริมฟุตบาทให้ได้ก่อนได้มั้ยคะ
    ทั้งมอไซด์วิ่งบนทางเท้า ป้ายหาเสียงกีดขวางและบดบังทางเดินเท้า
    ไม่เข้าใจทำไม กทม ไม่จัดระเบียบการติดป้ายหาเสียงให้เป็นที่
    สู้เก็บค่าเช่าป้ายหาเสียงเข้าเป็นรายได้ประเทศซะเลย จะได้ไม่ติดป้ายให้เกะกะ
    บางทีลมแรง เห็นขาไม้จะปลิวมาเสียบหัวแทน 😥

  2. นัท

    ได้ดูหลายรายการที่เอานักการเมืองแต่ละพรรคมานั่งคุยกัน
    แอบคิดเหมือนคุณอาเลยค่ะว่า ทำไมไม่เห็นพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมเลยวะ
    เอะอะก็ปากท้องของประชาชนต้องมาก่อน ทั้ง ๆ ที่ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดี
    จะเอาที่ไหนมาทำมาหากินกัน
    ปล.บางพรรคก็พูดแต่เรื่องบัตรเครดิตชาวนาอยู่ได้ 😆

  3. nuii

    ไม่เคยมีความหวังกับนักการเมืองเลย..ดูแล้วนับวันยิ่งหนัก มีแต่คนที่จะมาหากินกับบ้านเมือง ไม่เห็นมีใครจะมาช่วยอย่างที่บอก

  4. np

    ป้ายหาเสียงที่ญี่ปุ่นดีมากๆค่ะ ขนาดแค่A3เท่านั้น รัฐจะทำแผ่นไม้ใหญ่ๆตีตารางไว้ ตั้งไว้ในหลายๆจุด แล้วให้แต่ละเบอร์เอาป้ายมาแปะเอง

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.