รายงาน : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

และ 10 ข่าวสิ่งแวดล้อมต้องติดตามจากปี 2563 ถึงปี 2564 หรือ  10 Hot Environment News of 2020 10

จากนโยบายลด ละ เลิก ถุงพลาสติก ถึงนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่ดูจะย้อนแย้งสวนทาง…

จากไฟป่าออสเตรเลีย ถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP และปัญหาโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งภูมิภาคและระดับโลก…
จากกำแพงกันคลื่นบนชายหาด ถึงการผลักดันโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่ถูกตั้งคำถามถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ผลประโยชน์แอบแฝง และงบประมาณแผ่นดิน…

จากการเยียวยาแก้ไขปัญหากะเหรี่ยงบางกลอย ถึงมหากาพย์คลิตี้ที่ยังไม่มีบทสรุป…
ตลอดปี 2563 ถึงปี 2564 มีข่าวสิ่งแวดแวดล้อมต้องติดตามมากมาย แต่ละประเด็นเชื่อมโยงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ วิถีการดำรงชีวิต สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ

และ 10 ข่าวสิ่งแวดล้อมต้องติดตามจากปี 2563 ถึงปี 2564 หรือ 10 Hot Environment News of 2020 10 ข่าวสิ่งแวดล้อมต้องติดตามจากปี 2563 ถึงปี 2564 ได้ถูกรวบรวมไว้ ณ ทีนี้แล้ว

2021envinews01

1
แบนถุงพลาสติก

1 มกราคม 2563 เป็นวันแรกของมาตรการงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตามนโยบายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงานเพื่อลด ละ เลิก ถุงพลาสติก ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573

นโยบายลด ละ เลิก หรือแบนถุงพลาสติกเริ่มต้นจากหน่วยงานของรัฐนำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประสานความร่วมมือไปยังองค์กรภาคธุรกิจ เอกชน ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ ให้ร่วมกันงดบริการแจกถุงพลาสติกสำหรับลูกค้าที่มาซื้อสินค้า มีผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่มากกว่า 45 รายตอบรับเข้าร่วมโครงการนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถลดปริมาณขยะจากถุงพลาสติกหูหิ้วได้ถึงประมาณ 13,500 ล้านใบต่อปี ลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัด 225,000 ตันต่อปี

ช่วงต้นปี 2563 นโยบายนี้ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง และส่งผลให้ผู้บริโภคต้องปรับตัว แต่ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา ก็เริ่มมีการอะลุ่มอล่วย ร้านค้าบางแห่งกลับมาแจกถุงพลาสติกให้ลูกค้าในบางกรณี กระทั่งเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 นโยบายนี้และเส้นทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคต้องถูกท้าทายอย่างหนัก หลังจากผู้คนหันมานิยมสั่งอาหารออนไลน์ที่ใช้ถุงพลาสติกและกล่องพลาสติกจำนวนมากเป็นภาชนะและหีบห่อ

2021envinews02

2
ไฟป่าออสเตรเลีย

รัฐนิวเซาต์เวลล์เผชิญความแห้งแล้งรุนแรงติดต่อกันมาหลายปี อุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้น เศษต้นไม้ใบไม้ที่แห้งกรอบสะสม ประกอบกับกระแสลมแรง นำมาสู่วิกฤติไฟป่า

ในช่วงเริ่มต้น สังคมโลกรับรู้ถึงปัญหาไฟป่าออสเตรเลียผ่านการนำเสนอข่าวหมีโคอาล่าถูกไฟป่าครอกตาย มีสุภาพสตรีพยายามลุยควันเข้าไปช่วยแต่ไม่สามารถยื้อชีวิตได้สำเร็จ ขณะที่ผู้นำรัฐบาลออสเตรเลียถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความไม่จริงใจในการแก้ปัญหา ปล่อยให้สถานการณ์บานปลาย เกิดไฟป่าลุกลามในหลายรัฐทั่วประเทศ

มีรายงานว่าไฟป่าครั้งนี้กินพื้นที่กว้างและยืดเยื้อที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของออสเตรเลีย ผืนป่าถูกทำลายมากกว่า 115,000 ตารางกิโลเมตร มีคนเสียชีวิตมากกว่า 30 คน บ้านเรือนถูกทำลายหลายพันหลัง คร่าชีวิตสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากถึง 143 ล้านตัว สัตว์เลื้อยคลาน 2.46 พันล้านตัว นก 180 ล้านตัว สัตว์ที่รอดชีวิตก็ต้องเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร ไร้ที่อยู่อาศัย

อันที่จริงไฟป่าในออสเตรเลียเกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ระยะหลังเกิดถี่และรุนแรงขึ้น คาดว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังสร้างผลกระทบต่อมนุษยชาติในหลายมิติ

2021envinews03

3
ผลกระทบจากโควิด-19

โรคและเชื้อโรคอุบัติใหม่โควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก และเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึงต่อพฤติกรรม การดำรงชีวิต สภาพเศรษฐกิจ ไปจนถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

ในช่วงแรกๆ มีผู้ตั้งข้อสังเกตและนำเสนอแง่มุมเกี่ยวกับการลดลงของมลภาวะหลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก มนุษย์ลดกิจกรรมหลายอย่างที่รบกวนธรรมชาติเนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ ปิดเมือง อาทิ การใช้รถใช้ถนน การหยุดเดินเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม การปิดสถานที่ท่องเที่ยวทั้งป่าไม้ ภูเขา ท้องทะเลยังเปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว น้ำทะเล อากาศ กลับมาสะอาด ปริมาณขยะตามหัวเมืองต่างๆ ลดลง

แต่อีกด้านหนึ่ง ขยะพลาสติกกลับเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการสั่งอาหารมาบริโภคที่บ้านและที่ทำงาน ความนิยมจับจ่ายซื้อสินค้าออนไลน์เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางและพบปะผู้คน ประเมินว่าการสั่งอาหารดิลิเวอรีแต่ละครั้งสร้างขยะพลาสติกไม่ต่ำกว่า 5-8 ชิ้น

หากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจอาจทำให้เกิดโครงการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โควิด-19 ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “ไวรัสเปลี่ยนโลก” กำลังนำพาให้มนุษย์เข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะเราเดินหน้าใช้ทรัพยากรแบบเดิม หรือฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการลงทุนรูปแบบใหม่ที่คำนึงถึงระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ

ภาพ :ภาพ : ดาวเทียม Sentinel-5 ขององค์การ ESA

อ่านข่าวเพิ่มเติม

2021envinews04

4
พลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้า

เฉพาะปี 2563 ประเทศไทยนำเข้าเศษพลาสติก พิกัดศุลกากร HS3915 ประกอบด้วย “เศษ เศษตัด และของที่ใช้ไม่ได้ซึ่งเป็นพลาสติก” รวมทั้งสิ้น 150,807,312 กิโลกรัม และนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ พิกัดศุลกากร HS8548 ประกอบด้วย “เศษและของที่ใช้ไม่ได้ของเซลล์ปฐมภูมิ แบตเตอรี่ปฐมภูมิ และหม้อสะสมไฟฟ้า รวมถึงพวกเซลล์ปฐมภูมิที่ใช้แล้ว แบตเตอรี่ปฐมภูมิที่ใช้แล้วและหม้อสะสมไฟฟ้าที่ใช้แล้ว รวมทั้งส่วนประกอบทางไฟฟ้าของเครื่องจักรหรือเครื่องอุปกรณ์ที่ไม่ได้ระบุหรือรวมไว้ในที่อื่น” รวมทั้งสิ้น 49,402,360 กิโลกรัม โดยมาจากประเทศผู้ส่งออก 42 ประเทศ

แม้ว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาบาเซลฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามพรมแดน แต่ยังไม่ได้เข้าร่วมในส่วน “ภาคแก้ไข” ของอนุสัญญาบาเซลฯ ที่มีความเข้มงวดต่อการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายมากกว่า ทำให้ยังมีช่องโหว่ในการนำเข้าเศษพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์บางชนิด

การนำเข้าของเสียอันตรายโดยเฉพาะเศษพลาสติก สวนทางกับนโยบายลด ละ เลิกถุงพลาสติก ที่ภาครัฐพยายามขอความร่วมไม้ร่วมมือไปยังห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงพี่น้องประชาชนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกภายในประเทศ

ภาพ : 123rf

อ่านข่าวเพิ่มเติม

2021envinews05

5
กำแพงกันคลื่นบนหาดทราย

กำแพงกันคลื่นเป็นโครงสร้างทางวิศวกรรมที่สร้างประชิดชายฝั่งเพื่อป้องกันไม่ให้ชายฝั่งเปลี่ยนแปลง แต่ผลกระทบของกำแพงกันคลื่นจะทำให้ชายฝั่งด้านท้ายน้ำบริเวณจุดสิ้นสุดของโครงสร้างเกิดการกัดเซาะ เป็นเหตุให้ต้องสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆ และคลื่นที่เข้ามาปะทะกำแพงกันคลื่นจะกระซากทรายหน้ากำแพงกันคลื่นออกไป เดิมกำแพงกันคลื่นเป็นโครงการที่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ แต่นับตั้งแต่ปี 2556 ได้มีการเพิกถอนออกจากการทำอีไอเอ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการก่อสร้าง

กลุ่ม Beach for life รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์กรมโยธาธิการและผังเมืองและกรมเจ้าท่า พบว่าระหว่างปี 2557-2562 มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจากหน่วยงานภาครัฐ 74 โครงการ รวมระยะทาง 34,875 เมตร ใช้งบประมาณรวม 6,967,853,620 บาท ตั้งข้อสังเกตว่าหลายโครงการไม่มีความจำเป็น และน่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากกว่าผลดีที่อาจจะได้รับ เพราะยิ่งสร้าง ยิ่งกัดเซาะ ต้องเบิกงบสร้างกำเเพงกันคลื่นต่อไปไม่รู้จบ

ตลอดปี 2563 มีการรณรงค์เรียกร้องให้กำแพงกันคลื่น รวมถึงโครงการสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ริมทะเลต้องกลับมาทำอีไอเออีกครั้ง มีการรวมกลุ่มคนที่ต้องการรักษาชายหาดและหาดทรายไว้ตามสภาพธรรมชาติ เกิดแคมเปญรณรงค์รักษาหาดทรายในพื้นที่ต่างๆ ให้ปลอดพ้นจากกำแพงกันคลื่น อาทิ saveหาดม่วงงาม อำเภอสิงหนคร saveหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นต้น

ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

2021envinews06

6
แบนพาราควอต

30 เมษายน 2563 คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติให้แบนสารเคมีเกษตร 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ให้เป็นวัตุอันตรายชนิดที่ 4 (วอ.4) ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ครองครอง ผู้ฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป ส่วนไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้งานตามมติเดิม

พาราควอตเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช มีคุณสมบัติทำลายการสังเคราะห์แสงของใบหญ้า ด้วยคุณสมบัติออกฤทธิ์เร็วและราคาทำให้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง มูลค่าการนำเข้าสูงเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลบ่งชี้ว่าสารเคมีทั้งสามชนิดส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อาทิ มีผลต่อพัฒนาการของระบบประสาทและสมอง พบการตกค้างในแม่และเด็ก

การเรียงร้องให้แบนสารเคมีทางการเกษตรที่มีฤทธิ์รุนแรงทั้งสามชนิดเกิดขึ้นมานานแล้ว โดยเป็นการเห็นพ้องขององค์กรด้านสุขภาพและอื่นๆ เช่น แพทยสภา สภาเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สภาเกษตรกรแห่งชาติ แต่ถูกคัดค้านจากผู้เห็นต่างว่าสารเหล่านี้ยังมีความจำเป็น ในโลกความจริงเกษตรกรยังต้องพึ่งพาสารเคมีในกระบวนการผลิต การแบนหรือไม่แบนยังเกี่ยวพันกับผลประโยชน์มหาศาลของบริษัทข้ามชาติ

ล่าสุดแม้จะมีมติแบนและจำกัดการใช้งาน ก็ยังมีความพยายามเรียกร้องให้ยกเลิก มีการยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนประกาศ แม้แต่ภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เองก็มีความเคลื่อนไหวที่จะขอให้ทบทวนการแบนสารเคมีเหล่านี้

ภาพ : 123rf 

2021envinews07

7
CPTPP

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) หรือ CPTPP เป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมเรื่องการค้า การบริการ การลงทุนกำหนดมาตรฐานและกฏระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งประเด็นแรงงาน สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลกับนักลงทุนต่างชาติ

เดิม CPTPP เรียกว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) มีสมาชิก 12 ประเทศ ต่อมาสหรัฐอเมริกาถอนตัว ประเทศที่เหลือจึงเดินหน้าต่อด้วยชื่อใหม่ว่า CPTPP มีสมาชิก 11 ประเทศ คือ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

แม้ภาครัฐจะชี้แจงเรื่องผลประโยชน์ที่จะได้รับ คือ ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เพิ่มการส่งออก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งถือโอกาสนี้พัฒนากฎหมายด้านสิทธิแรงงาน และสิ่งแวดล้อมให้ได้ตามมาตรฐานของ CPTPP แต่ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้ก็มีข้อห่วงกังวลหลายประการ อาทิ การบังคับให้ต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) น่าจะเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาตินำเมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมืองไทยไปสร้างพืชพันธุ์ใหม่แล้วจดสิทธิบัตร ในอนาคตเกษตรกรไทยอาจต้องแบกรับต้นทุนการเกษตรที่สูงขึ้นเพราะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทข้ามชาติที่ได้ลิขสิทธิ์พันธุ์พืชนั้นๆ การเปิดช่องให้นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือแม้แต่เครื่องมือแพทย์มือสองอาจทำให้แผ่นดินไทยกลายเป็นดินแดนรองรับขยะของเสียจากต่างชาติ หรือแม้แต่ข้อกำหนดต่างๆ บนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะถูกปรับเปลี่ยน

ประเทศไทยจะเข้าร่วม CPTTP หรือไม่ ดีหรือร้ายอย่างไร ? เป็นคำถามที่อยู่ในความสนใจตลอดปี 2563 

2021envinews08

8
มหากาพย์คลิตี้

ตามกำหนดการเดิม กลางปี 2563 เป็นโค้งสุดท้ายของการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วสืบเนื่องจากการประกอบกิจการของโรงแต่งแร่ เป็นไปตามแผนปฏิบัติงานโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี มูลค่าประมาณ 452 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 1,000 วัน ซึ่งครบกำหนดช่วงเดือนสิงหาคม 2563

อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้รับเหมาจากกรมควบคุมมลพิษไม่สามารถดำเนินงานแล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด จนต้องพิจารณาให้ขยายเวลาถึงช่วงปลายปี

เส้นทางฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยคำถามมากมายในสายตาชาวบ้านและนักวิชาการ อาทิ การฟุ้งกระจายของตะกอนท้องน้ำเป็นระยะทางยาวถึง 4 กิโลเมตรระหว่างการฟื้นฟู, น้ำที่รีดออกมาจากถุงเก็บตะกอนซึ่งปล่อยไหลกลับลงไปในลำห้วยมีค่าตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานถึงเกือบ 100 เท่า, ผลตรวจวัดความขุ่นของน้ำหลังม่านดักตะกอนก็มีค่าสูงขึ้นกว่าค่ามาตรฐานตามธรรมชาติถึงกว่า 10 เท่าหรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2563 ยังเกิดเหตุฆาตกรรมชาวบ้านที่ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์การฟื้นฟูอย่างตรงไปตรงมา ล่าสุดในปี 2564 มีรายงานทางวิชาการระบุว่าการปนเปื้อนสารตะตั่วในลำห้วยและธรรมชาติเกิดจากหางแร่ ไม่ได้เป็นเพราะคลิตี้เป็นพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่วตามธรรมชาติอยู่แล้วตามที่หลายฝ่ายมักนำมากล่าวอ้าง

ถึงบัดนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าโครงการฟื้นฟูที่เพิ่งผ่านพ้นไปประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ แต่มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับโครงการฟื้นฟู “เฟส 2” ที่คาดว่าจะใช้งบประมาณอีกราว 180 ล้านบาทแล้ว

ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

2021envinews09

9
ผลักดันนิคมฯ จะนะ

คณะรัฐมนตรียุคปลายรัฐบาล คสช. เคยอนุมัติให้ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นในพื้นที่อำเภอจะนะ ภายใต้ชื่อโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” บนพื้นที่ชายฝั่งทะเลสามตำบลประมาณ 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 18,680 ล้านบาท อ้างอิงตาม “เอกสารพัฒนาพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตามแนวทางเมืองต้นแบบ ‘อุตสาหกรรมแห่งอนาคต’ ” ระบุภาพรวมโครงการว่าจะจัดแบ่งพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรม ๖ ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ อุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย หากผลักดันสำเร็จจะเป็นโครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้

ตลอดปี 2563 หน่วยงานรัฐ อาทิ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กรมโยธาธิการและผังเมือง และเอกชนเจ้าของโครงการ พยายามขับเคลื่อนให้โครงการเดินหน้า อาทิ เปลี่ยนสีผังเมืองจากเขียวเป็นม่วง เร่งจัดทำรายงานอีไอเอและอีเอชไอเอ แม้ช่วงวิกฤติโควิด-19 มีการกักตัวประชาชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ก็ยังมีประกาศเชิญชวนประชาชนแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวการขับเคลื่อนโครงการ

ขณะที่เครือข่ายนักวิชาการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนชาวบ้านในพื้นที่ห่วงกังวลว่าจะส่งผลกระทบกับผู้คนและสิ่งแวดล้อม อาทิ การกัดเซาะชายฝั่ง มลพิษ สูญเสียแหล่งจับสัตว์น้ำ พื้นที่เพาะปลูก รวมถึงสังคมวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิมที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดถ้าหากไม่พิจารณาถึงข้อดีแสะข้อเสียอย่างรอบด้าน จึงมีการรณรงค์ให้ร่วมกันปกป้องจะนะ ติดแฮชแท็ก saveจะนะ ตลอดจนเรียกร้องให้ศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) บนฐานทรัพยากรระบบนิเวศท้องถิ่น ยึดถือหลักคิดว่าจะพัฒนาสงขลาบนฐานศักยภาพทรัพยากรที่มีอย่างไร

ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

2021envinews10

10
คนอยู่กับป่าบางกลอย

ต้นปี 2564 สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กลับมาได้รับความสนใจจากสังคมอีกครั้ง เมื่อชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยจำนวน 85 คน ตัดสินใจเดินเท้าอพยพกลับบ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน ตามมาด้วยยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรของเจ้าหน้าที่ นำตัวทั้งหมดกลับลงมา ชาวบ้านส่วนหนึ่งถูกออกหมายจับข้อหาบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติ

ชาวบ้านให้เหตุผลว่าพื้นที่ที่กลับขึ้นไปเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินดั้งเดิม ก่อนมีคำสั่งให้อพยพลงมาเมื่อหลายปีก่อน เมื่อชีวิตใหม่ในพื้นที่จัดสรรด้านล่างเป็นไปด้วยความยากลำบากมานานหลายปี ขาดแคลนที่ทำกินและแหล่งน้ำทำเกษตร ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ชาวบ้านและคนหนุ่มสาวที่ออกไปทำงานในเมืองตกงาน ต้องกลับมาอยู่หมู่บ้าน ขาดแคลนอาหาร ไม่มีที่ทำกิน จึงตัดสินใจกลับขึ้นไปเพื่อทำไร่หมุนเวียน

บ้านบางกลอยของชาวกะเหรี่ยง ชนเผ่าพื้นเมืองในผืนป่าแก่งกระจานกลายเป็นพื้นที่ใจกลางความขัดแย้งเรื่อง “คน” กับ “ป่า” ขณะเดียวกันก็เป็นเพียงเสี้ยวส่วนหนึ่งของปัญหาการรุกไล่ที่ที่เกิดขึ้นในผืนป่าไทย มีหลายคำถามที่สังคมต้องช่วยกันตามหาคำตอบ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจและการยอมรับในวิถีไร่หมุนเวียน อันเป็นเกษตรแบบดั้งเดิมของคนบนพื้นที่สูงที่แตกต่างอย่างชิ้นเชิงกับเกษตรถาวรแบบคนเมืองที่ราบ การแบ่งเขาแบ่งเราระหว่างคนเมืองกับกลุ่มชาติพันธุ์ จนถึงคำถามสำคัญ…คนอยู่กับป่าได้ไหม ?

ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม